กองสลาก ชี้ แม่ค้าเขียนชื่อหลังสลาก ห้ามอะไรไม่ได้ ไม่ผิดกฎหมาย

กองสลาก ชี้ แม่ค้าเขียนชื่อหลังสลาก ห้ามอะไรไม่ได้ ไม่ผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 16 มกราคม พลตำรวจเอก บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Little Catfish ได้โพสต์ภาพสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 17 มกราคม 2563 หมายเลข 575983 จำนวน 2 ใบ ด้านหลังกลับพบว่ามีการกรอกชื่อ นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์ของผู้ขาย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ 75 พรรษา ถนนธนาลัย เยื้องพิพิธภัณฑ์ชาวเขา ตำบลเวียง อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงราย ว่า กรณีดังกล่าวที่แม่ค้าเขียนหลังสลาก หรือประทับตราแสดงความเป็นเจ้าของ และนำสลากฯ ไปจำหน่าย ยังไม่ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ตามหลักการของพระราชบัญญัติ พรบ สลากกินแบ่งรัฐบาล พศ 2562 ระบุว่า กองสลากฯ จะจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ที่ถือสลากฯ มาขึ้นรางวัลเท่านั้น โดยจะต้องมีการแนบหลักฐานยืนยัน คือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ประกอบด้วย แต่ถ้ากรณีที่มีการแจ้งอายัดสลากฯ ไว้ก่อนหน้า ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวน เพื่อยืนยันว่าใครเป็นเจ้าของสลากฯ ตัวจริง

ทั้งนี้ เพื่อความสบายใจของผู้ซื้อ จึงอยากแนะนำให้อย่าซื้อสลากที่มีการเขียนชื่อด้านหลัง หรือประทับตรา หรือกระทำการใด ๆ ที่แสดงความเป็นเจ้าของ แต่หากผู้ซื้อมีความต้องการที่จะซื้อสลากฯ ใบดังกล่าวจริง ๆ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อป้องกันหากกรณีสลากฯ ใบนั้นถูกรางวัลจริง ก็จะสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของได้

ภาพจาก Little Catfish

กองสลากฯ คงไม่สามารถไปห้ามไม่ให้มีการซื้อขาย หรือเขียนหลังสลากฯ ได้ ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อ แต่ในกรณีที่มีการเขียนหลังสลากฯ แล้วนำมาขาย ยังไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ถือเป็นการทำที่อาจผิดวิสัย อาจจะมีเจตนาไม่ดี คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ซื้อเอง เพราะท้ายที่สุดหากสลากฯ ใบนั้น เมื่อมีปัญหา มีการแจ้งอายัดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ซึ่งต้องใช้เวลา พลตำรวจเอก บุญส่ง กล่าว

ที่มา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ