แห่งแรกในภาคอีสาน เตรียมผุดนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ 2300 ไร่

แห่งแรกในภาคอีสาน เตรียมผุดนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ 2300 ไร่

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 หรือ อีสานใต้ จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ

ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในโครงการสำคัญที่ภาคเอกชนเสนอให้ภาครัฐช่วยผลักดันเป็นโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ตำบลนากระแซง และ ตำบลทุ่งเทิง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดพื้นที่ 2300 ไร่

เพื่อสร้างฐานการผลิตเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในระดับนานาชาติ มีโครงการรถไฟทางคู่และท่าอากาศยานอุบลราชธานีที่สามารถเชื่อมโยงการค้าใน 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน

ล่าสุด การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวถือว่ามีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดย บริษัท อุบลราชธานีอินดัสตรี้ จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ ได้ดึงพันธมิตรจากญี่ปุ่น 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไคไก แอดไวซอรี่ จำกัด บริษัท เวลเนสไลฟ์โปรเจ็ค ไทยแลนด์ จำกัด และบริษัท เอเชี่ยนไดนามิค คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ร่วมจัดตั้งนิคมฯ ด้วยงบการลงทุนกว่า 2700 ล้านบาท

นายณัฐวัฒน์ เลิศสุรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุบลราชธานีอินดัสตรี้ จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นเป็นแห่งแรกใน จังหวัดอุบลราชธานี ไปแล้ว ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565

สำหรับนิคมฯ แห่งนี้ จะใช้เงินลงทุนพัฒนาราว 2700 ล้านบาท บนเนื้อที่ 2300 ไร่ เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมเทคโนชีวภาพ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวข้ามแดน อุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ, อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องมือและยานยนต์ที่ใช้ในการเกษตร เป็นต้น

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอปรับเปลี่ยนผังเมืองการใช้ประโยชน์ที่ดินจากสีเขียวเป็นสีม่วงกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ควบคู่กับการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อีไอเอ และหลังจากนั้นจะยื่นเรื่องไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดตั้งเป็นนิคมร่วมดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ นิคมฯ ดังกล่าวยังจะเป็นฐานการเชื่อมโยงการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมมรกต กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเวียดนาม ที่นักลงทุนต่าง ๆ จะสามารถกระจายสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก เนื่องจาก จังหวัดอุบลราชธานี นั้น เป็นหนึ่งในจังหวัดเขตอีสานใต้ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพ มีประชากรกว่า 1800000 ล้านคน และหากรวมกับจังหวัดในอีสานใต้จะมีประชากรกว่า 10 ล้านคน

การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีขึ้น นอกจากจะเป็นการยกระดับ จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องข้างต้นแล้ว นิคมฯ แห่งนี้ยังมีบทบาทในฐานะเป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์อันทันสมัย ที่พรั่งพร้อมไปด้วยพื้นที่เชิงพาณิชย์และแหล่งรวบรวมนวัตกรรมใหม่ ๆ จากผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอีกด้วย

นายณัฐวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น การร่วมลงทุนโดยตรงจากบริษัทภายในและต่างประเทศ จึงถือเป็นโครงการตัวอย่างในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง เพราะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น กระตุ้นการจ้างงาน และรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สามารถสร้างมูลค่าการลงทุนให้กับภูมิภาคได้อีกเป็นจำนวนมาก

โดยเชื่อว่าภายหลังการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีขึ้นมา จะกระตุ้นให้เกิดกระแสหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในเขตไม่ต่ำกว่า 20000 ล้านบาท และก่อให้เกิดการสร้างงานราว 20000 อัตรา ได้ภายในปี 2665

ไม่พลาดทุกข่าวสาร รู้ลึก รู้จริงก่อนใคร ติดตามข่าวสารผ่านช่องทางไลน์ แอดมาเป็นเพื่อนกับเราได้ที่นี่

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ